การเรียงสับเปลี่ยนเชิงวงกลมเป็นเนื้อหาชั้น ม.5  จะได้เรียนในเทอม 2  ถ้าผมจำไม่ผิดนะครับการเรียงสับเปลี่ยนเชิงวงกลมคือการนำสิ่งของมาจัดเรียงให้เป็นวงกลมครับ   เช่นมีคน  3  คนมานั่งรอบโต๊ะกลมจะมีวิธีการนั่งที่แตกต่างกันทั้งหมดกี่วิธี  อันนี้ก็ต้องใช้ความรู้เรื่องการเรียงสับเปลี่ยนเชิงวงกลมมาช่วยในการคิดครับ  ฉะนั้นในวันนี้เรามาเรียนเรื่องการเรียงสับเปลี่ยนสิ่งของเชิงวงกลมกันครับ   แต่ก่อนที่จะเรียนเรื่องการเรียงสับเปลี่ยนเชิงวงกลม  ผมขอทบทวนเท้าความไปยังการเรียงสับเปลี่ยนเชิงเส้นก่อนครับ

ถ้าเรามีสิ่งของที่ต่างกัน 3  สิ่งคือ  A,B,C   นำสิ่งของนี้มาเรียงสับเปลี่ยนเชิงเส้นจะได้จำนวนวิธีที่แตกต่างกันทั้งหมด  6 วิธี คือ

ABC

CAB

BCA

ACB

CBA

BAC

แต่ถ้าผมนำสิ่งของที่แตกต่างกัน  3  สิ่งนี้ไปเรียงสับเปลี่ยนเชิงวงกลมก็คือเหมือนจัดสิ่งของสามสิ่งนี้นั่งรอบโต๊ะกลม  คิดว่าจะได้จำนวนวิธีการที่แตกต่างกันทั้งหมดกี่วิธี  ดูจากรูปภาพนะเดี๋ยวผมทำให้ดู

รูปที่ 1

การเรียงสับเปลี่ยนเชิงวงกลม

จะเห็นว่าทั้งสามแบบคือ

ABC

CAB

BCA

เป็นแบบเดียวกันครับ ลองหมุนดูดีๆนะครับ มันจะมาทับกันที่จุดเดิมครับ เมื่อมันเป็นแบบเดียวกันเราจะเลือกใช้แบบไหนก็ได้นะครับ

รูปที่ 2

การเรียงสับเปลี่ยนเชิงวงกลม

รูปที่ 2  จะเห็นว่าแบบทั้งสามแบบนี้คือ

ACB

CBA

BAC

เป็นแบบเดียวกันครับ ลองหมุนดูดีๆนะครับ มันจะมาทับกันที่จุดเดิมครับ เมื่อมันเป็นแบบเดียวกันเราจะเลือกใช้แบบไหนก็ได้นะครับ

ดังนั้น เราจะได้ว่า  ถ้ามีสิ่งของ 3  สิ่งที่แตกต่างกันนำมาเรียงสับเปลี่ยนเชิงวงกลมจะได้จำนวนวิธีที่แตกต่างกันทั้งหมด 2 วิธี  ใช่ไหม  คือ

ABC   และ  ACB    (เลือกมา 1 แบบจาก 3 แบบที่เป็นแบบเดียวกันนะ)      ซึ่งถ้าเรามองต่ออีกจะเห็นว่าถ้าเรานำสิ่งของที่แตกต่างกัน  3  สิ่งมาเรียงสับเปลี่ยนเชิงวงกลม  เลือกสิ่งของมา 1  สิ่งก่อนมาวางมาวางทิ้งไว้  แล้วเอาสิ่งของที่เหลือมาเรียงสับเปลี่ยนเชิงเส้น  อย่างเช่น

 ตัวนี้  ABC   และ  ACB    เลือก  A  มาวางทิ้งไว้แล้วเอา B  และ C  มาเรียงสับเปลี่ยนกัน   กล่าวคือ

ถ้าเรามีสิ่งของที่ต่างกัน  3  สิ่ง คือ  A,B,C นำมาเรียงสับเปลี่ยนเชิงวงกลมจะได้จำนวนวิธีที่แตกต่างกันทั้งหมดคือ....

วิธีทำ คือ  เลือกสิ่งของ 1  สิ่งมาวางทิ้งไว้ ผมเลือก A  มานะ  แล้วเอาที่เหลือ มาเรียงสับเปลี่ยนก็คือเอา B และ C  มาเรียงสับเปลี่ยนก็จะได้จำนวนวิธีที่่แตกต่างกันคือ ABC และ ACB  มี 2 วิธีที่แตกต่างกันครับ

หรือถ้าเราจะมองให้มันเป็นสูตรในการคิดคำนวณจำนวนวิธีทั้งหมดในการเรียงสับเปลี่ยนเชิงวงกลมของสิ่งของที่แตกต่างกัน n สิ่ง เราก็จะได้สูตรดังนี้

เลือกสิ่งของ มา  1  สิ่งมาวางทิ้งไว้ก่อน  แล้วเอาสิ่งของที่เหลืออยู่คือเหลืออยู่ n-1 สิ่งมาเรียงสับเปลี่ยนเชิงเส้น ซึ่งจำนวนวิธีในการเรียงสับเปลี่ยนเชิงเส้นของสิ่งของ n-1 สิ่ง คือ   \((n-1)!\)       วิธี ครับ

ดังนั้น เราจึงได้สูตรในการหาจำนวนวิธีเรียงสับเปลี่ยนสิ่งของเชิงวงกลมคือ \((n-1)!\)        ครับ 

ยกตัวอย่างเช่น จัดคน 3 คนนั่งรอบโต๊ะกลมจะได้จำนวนวิธีการนั่งที่แตกต่างกันทั้งหมดกี่วิธี

วิธีทำ ข้อนี้สิ่งของก็คือคน 3 คน หรือก็คือ  \(n=3\)     จากสูตรจำนวนวิธีในการเรียงสับเปลี่ยนสิ่งของเชิงวงกลมคือ \((n-1)!=(3-1)!=2!=2\)        ข้อนี้จัดคนสามคนนั่งรอบโต๊ะกลมจะได้จำนวนวิธีจัดที่แตกต่างกัน 2 วิธีครับ

 มีแค่นี้ครับ concept ในการเรียงสับเปลี่ยนสิ่งของเชิงวงกลม  ต่อไปเราไปทำโจทย์เพิ่มเติมครับ ผมจะเฉลยให้ดูเป็นบางข้อเท่านั้น สำหรับคนที่เรียนในห้องเรียนไม่ทันหรือไม่มีตังค์เรียนพิเศษ

ตัวอย่างที่ 1 จัดนักเรียน 10 คน ให้นั่งรอบโต๊ะกลม ซึ่งมี 10 ที่นั่งได้ทั้งหมดกี่วิธี

วิธีทำ จำนวนวิธีจัดนักเรียน 10 คน นั่งรอบโต๊ะกลมซึ่งมี 10 ที่นั่งเท่ากับ

\((n-1)!=(10-1)!=9!=362,880\)              วิธี


ตัวอย่างที่ 2 มีนักเรียนชาย 6 คน และนักเรียนหญิง 6 คน ต้องการจัดคนทั้งหมดให้นั่งรอบโต๊ะกลม ซึ่งมี 12 ที่นั่ง โดยที่นักเรียนชายและนักเรียนหญิงต้องนั่งสลับกันจะมีวิธีจัดทั้งหมดกี่วิธี

วิธีทำ ข้อนี้ concept คือ จัดนักเรียนชายหรือหญิงก็ได้เข้าไปนั่งก่อน แล้วค่อยจัดแทรกอีกที  กล่าวคือจัดนักเรียนชายลงไปนั่งก่อน แล้วค่อยจัดหญิงเข้าไปแทรก 

จัดชายลงไปนั่งก่อนก็จะได้จำนวนวิธีทั้งหมด \((6-1)!=5!\)      งานยังไม่เสร็จนะย้งไม่ตอบ ต่อไปเราก็จัดหญิงไปนั่งแทรกระหว่างชายเพราะโจทย์เขาต้องการให้หญิงชายนั่งสลับกัน ซึ่งที่นั่งระหว่างชายจะมีที่ว่าง 6 ที่เหมือนกับการเอาหญิง 6 คนไปเรียงสับเปลี่ยนเชิงเส้นนั่นเองก็จะได้จำนวนวิธีคือ \(6!\)    วิธี ข้อนี้มองเป็นการทำงาน  2 ขั้นตอน

ขั้นตอนแรก คือจัดชายก่อนได้  \(5!\)

ขั้นตอนที่สอง คือจัดหญิงเข้าไปแทรกระหว่างชายได้  \(6!\)

ดังนั้นจำนวนวิธีในการจัดทั้งหมดใช้กฏการคูณคือ  \(5!6!=86400\)       วิธี


ตัวอย่างที่ 3 นักเรียนชาย 3 คน และนักเรียนหญิง 3 คน นั่งรอบโต๊ะกลมซึ่งมี 6 ที่นั่งโดยที่นักเรียนชายนั่งติดกันหมดและนักเรียนหญิงนั่งติดกันหมด จะมีวิธีนั่งทั้งหมดกี่วิธี

วิธีทำ ข้อนี้มีหลักการทำก็คือ โจทย์ต้องการให้นักเรียนชายนั่งติดกันหมดและนักเรียนหญิงก็นั่งติดกันหมด ดังนั้นเราจับนักเรียนชาย 3 คนมัดรวมกัน   และจัดนักเรียนหญิง 3 คนหมัดรวมกัน หลังจากมัดรวมกันแล้วก็จะทำการหาคำตอบเลยนะครับ มองเป็นการทำงาน 3 ขั้นตอน ใช้กฏการคูณในการหาคำตอบ

ขั้นตอนที่ 1  จัดสิ่งของสองสิ่งก็คือมัดนักเรียนชายและมัดของนักเรียนหญิงเรียงสับเปลี่ยนเชิงวงกลมจะจัดได้  \((2-1)!=1\)       แบบ

ขั้นตอนที่ 2  เอานักเรียนชายที่อยู่ในมัดเดียวกันมาเรียงสับเปลี่ยนเชิงเส้น จะจัดเรียงได้จำนวน

\(3!=6\)          แบบ

ขั้นตอนที่ 3  เอานักเรียนหญิงที่อยู่ในมัดเดียวกันมาเรียงสับเปลี่ยนเชิงเส้น จะจัดเรียงได้จำนวน

\(3!=6\)         แบบ

ตามกฏการคูณ จะมีวิธีนั่งทั้งหมด   \(1\times 6 \times 6=36\)      วิธี


ตัวอย่างที่ 4  ถ้าต้องการจัดให้เด็กชาย 4 คน และหญิง 3 คน นั่งเป็นวงกลม โดยไม่ให้เด็กหญิงนั่งติดกัน จะจัดได้ทั้งหมดกี่วิธี

วิธีทำ โจทย์แบบนี้ออกข้อสอบเยอะ concept ในการทำก็ง่ายๆเลยจำเอาไปใช้เลยครับ คือจัดชาย 4  คนไปนั่งเป็นวงกลมก่อน  แล้วค่อยจัดหญิงเข้าไปแทรก ใช้กฏการคูณในการหาคำตอบมองเป็นการทำงาน 2 ขั้นตอน

ขั้นตอนที่ 1 จัดชาย 4  คนเข้าไปนั่งเป็นวงกลมก่อน จะจัดได้

\((4-1)!=3!=6\)       วิธี

ขั้นตอนที่ 2  จัดหญิง 3 คนเข้าไปแทรกระหว่างชายก็จะทำให้หญิงนั่งไม่ติดกัน ซึ่งมีที่ให้แทรกได้ 4 ที่ตามรูปด้านล่าง  การจัดก็ทำได้คือ

หญิงคนที่ 1 เลือกนั่งตรงไหนก็ได้ทำได้  4 วิธี

หญิงคนที่ 2 เลือกนั่งตรงไหนก็ได้ที่ไม่ไปซ้ำกันคนที่ 1 ก็ทำได้ 3  วิธี

หญิงคนที่ 3 เลือกนั่งได้  2  วิธี ห้ามไปนั่งซ้ำกับคนที่ 1 และ 2 นะ

จำนวนวิธีในการนั่งของหญิงคือ  \(4\times 3 \times 2 =24\)      วิธี

การเรียงสับเปลี่ยนเชิงวงกลม

ตามกฏการคูณ จะมีวิธีนั่งเป็นวงกลมโดยไม่ให้หญิงติดกันเท่ากับ  \(6\times 24=144 \)      วิธี


ตัวอย่างที่ 5 มีลูกบอลที่แตกต่างกัน 9 ลูก เป็นสีแดง 2 ลูก สีขาว 4 ลูกและสีดำ 3 ลูก นำลูกบอลทั้งหมดมาวางเรียงรอบวงกลมวงหนึ่ง จำนวนวิธีเรียงสับเปลี่ยนเท่ากับเท่าใด เมื่อไม่ต้องการให้ลูกบอลสีดำติดกันทีเดียวสามลูก

วิธีทำ  การทำข้อนี้ถ้าเราทำแบบตรงๆคงจะยากเพราะต้องแยกคิดออกเป็นหลายกรณี ในเมื่อเราคิดตรงๆไม่ได้เราก็ใช้เทคนิคการคิดการคิดแบบตรงกันข้าม  เทคนิคนี้นำไปใช้ได้ตลอดนะจำเอาไปใช้ด้วยเหล่านักเรียนทั้งหลาย  มาเริ่มต้นทำกันเลยดีกว่า   อย่าลืมนะโจทย์ข้อนี้ไม่ต้องการให้ลูกบอลสีดำติดกัน  ใช้วิธีคิดตรงข้าม คือ 

  1. หาจำนวนวิธีเรียงสับเปลี่ยนเชิงกลมของลูกบอลทั้งหมดแบบไม่มีเงื่อนไข
  2. หาจำนวนวิธีเรียงสับเปลี่ยนที่ลูกบอลสีดำ 3 ลูกอยู่ติดกันทั้งสามลูก(อันนี้โจทย์ไม่ต้องการนะ)
  3. นำจำนวนวิธีทั้งหมดจากข้อที่ 1  มาลบออกด้วยข้อที่ 2 คือลบออกด้วยสิ่งที่เราไม่ต้องการก็จะได้สิ่งที่เราต้องการครับ

เริ่มทำกันเลยนะ

หาจำนวนวิธีเรียงสับเปลี่ยนเชิงกลมของลูกบอลทั้งหมดแบบไม่มีเงื่อนไข 

มีลูกบอลที่แตกต่างกันทั้งหมด 9 ลูก เอามีเรียงสับเปลี่ยนเชิงวงกลมก็คือเอามาวางเรียงรอบวงกลมวงหนึ่งตามที่โจทย์บอก ก็จะได้จำนวนวิธีทั้งหมด   \((n-1)!=(9-1)!=8!\)          วิธี

หาจำนวนวิธีเรียงสับเปลี่ยนที่ลูกบอลสีดำ 3 ลูกอยู่ติดกันทั้งสามลูก(อันนี้โจทย์ไม่ต้องการนะ)

อันนี้ก็มัดลูกบอลสีดำ 3 ลูกติดกันเป็นหนึ่งมัดนับเป็นหนึ่ง แล้วก็บวกกับลูกบอลสีแดง 2 ลูก สีขาวอีก 4 ลูก  ตอนนี้มีสิ่งของหรือว่าลูกบอล 7 ลูก  เอาเจ็ดลูกนี้มาจัดเรียงสับเปลี่ยนเชิงวงกลมได้   \((7-1)!=6!\)  วิธี  ยังไม่จบนะ เอาลูกบอลสีดำที่มัดติดกันสลับกันภายในมัดได้  \(3!\)      วิธี    ดังนั้นจำนวนวิธีทั้งหมดคือ  \(6!3!\)     วิธี

นำจำนวนวิธีทั้งหมดจากข้อที่ 1  มาลบออกด้วยข้อที่ 2 คือลบออกด้วยสิ่งที่เราไม่ต้องการก็จะได้สิ่งที่เราต้องการ

เอามาลบกันเลยนะ  \(8!-(6!3!)=36000\)        วิธี   นี่คือวิธีการคิดแบบตรงกันข้ามครับ จำๆเอาไปใช้ดูครับคิดตรงไม่ได้ก็คิดตรงกันข้าม ออกทางออกไม่ได้ก็เดินออกทางเข้าก็ได้


ตัวอย่างที่ 6   จากตัวอย่างที่ 5 จำนวนวิธีเรียงสับเปลี่ยน โดยให้มีลูกบอลสีขาวอยู่ติดกันอย่างน้อยสองลูก เท่ากับเท่าใด

วิธีทำ ใช้การคิดตรงกันข้ามเหมือนเดิมครับ ง่ายๆ   เขาบอกว่าโดยให้ลูกบอลสีขาวติดกันอย่างน้อยสองลูก ก็แสดงว่าติดกัน 2 ลูกก็ได้   ติดกัน 3 ลูกก็ได้  ติดกัน 4 ลูกก็ได้ ใช้ไหมก็คือยังไงก็ต้องมีลูกสีขาวติดกัน  ดังนั้นเราสามารถคิดตรงกันข้ามคือ 

เอาจำนวนวิธีเรียงสับเปลี่ยนทั้งหมดโดยไม่มีเงื่อนไข ลบออกด้วย วิธีเรียงสับเปลี่ยนกรณีที่ลูกบอลสีขาวแยกกันอยู่ทั้งหมด      เริ่มทำกันเลยครับ

หาจำนวนวิธีเรียงสับเปลี่ยนทั้งหมดโดยไม่มีเงื่อนไข คือ

\((9-1)!=8!\)     วิธี

วิธีเรียงสับเปลี่ยนกรณีที่ลูกบอลสีขาวแยกกันอยู่ทั้งหมด

วิธีการคิดกรณีนี้คือ เอาลูกบอลสีแดงและสีดำมาเรียงสับเปลี่ยนเชิงวงกลมก่อนแล้วค่อยเอาสีขาวเข้าไปแทรก ก็จะได้สีขาวแยกกันอยู่ ดูรูปประกอบครับ

การเรียงสับเปลี่ยนเชิงวงกลม

นำลูกบอลสีดำ 3 ลูกและลูกบอลสีแดง 2 ลูกมารวมกันได้ 5 ลูก มาเรียงสับเปลี่ยนเชิงวงกลมได้จำนวนวิธีคือ  \((5-1)!=4!\)    งานยังไม่เสร็จนะต่อไปนำลูกบอลสีขาวไปแทรกซึ่งมีที่ให้แทรกทั้งหมด 5 ที่จากที่มีลูกบอลสีขาวเพียง 4 ลูกอันนี้มองเป็นการเรียงสับเปลี่ยนเชิงเส้น คือมีสิ่งของที่ต่างกัน 5 สิ่งนำมาเรียงสับเปลี่ยนเชิงเส้นคราวละ 4 สิ่งก็จะได้จำนวนวิธีคือ   \(P_{5,4}=\frac{5!}{(5-4)!}=5!\)    หรือใครจะมองอย่างนี้ก็ได้คือ

ลูกบอลสีขาวลูกที่ 1 สามารถเลือกวางแทรกตรงไหนก็ได้ในจำนวนที่ว่าง 5 ที่ก็วางได้  5 วิธี

ลูกบอลสีขาวลูกที่ 2 เลือกวางแทรกที่ว่างได้  4  วิธี

ลูกบอลสีขาวลูกที่ 3 เลือกวางแทรกที่ว่างได้ 3 วิธี

ลูกบอลสีขาวลูกที่ 4 เลือกวางแทรกที่ว่างได้  2 วิธี

ดังนั้นจำนวนวิธีในการวางแทรกในที่ว่างทั้งหมดคือ  \(5\times 4\times 3\times 2=5!\)     วิธีนั่นเอง

เพราะฉะนั้นวิธีเรียงสับเปลี่ยนกรณีที่ลูกบอลสีขาวแยกกันอยู่ทั้งหมด  คือ \(4!5!\)    วิธี

ต่อไปก็เอามาลบกันครับ

ดังนั้นจำนวนวิธีเรียงสับเปลี่ยน โดยที่ลูกบอลสีขาวอยู่ติดกันอย่างน้อยสองลูกเท้า

\(8!-(4!5!)=37440\)         วิธี


ตัวอย่างที่ 7 มีครู 3 คน นักเรียนชาย 3 คน นักเรียนหญิง 3 คน มานั่งล้อมรอบโต๊ะตัวหนึ่ง จำนวนวิธีการนั่งของคนทั้งหมดเท่ากับเท่าใด เมื่อต้องการให้ครู นักเรียนชาย นักเรียนหญิง นั่งสลับกันทีละ 1 คนและเรียงลำดับเหมือนกันทุกชุด

วิธีทำ  แนวคิด

ขั้นที่ 1 หาจำนวนวิธีเรียงลำดับระหว่างครู นักเรียนชาย และนักเรียนหญิง ซึ่งเป็นการเรียงสับเปลี่ยนเชิงวงกลมของสิ่งของ 3 สิ่ง

ขั้นที่ 2 ให้ใครคนใดคนหนึ่งไปเลือกที่นั่ง หาจำนวนวิธีเลือก และให้อยู่กับที่

ขั้นที่ 3 หาจำนวนวิธีเรียงสับเปลี่ยนของคนในประเภทนั้นที่เหลือ 2 คน (แบบเชิงเส้น)

ขั้นที่ 4 หาจำนวนวิธีเรียงสับเปลี่ยนแบบเชิงเส้นของคนอีก 2 ประเภทที่เหลือ

เริ่มทำกันเลยนะ อ่านขั้นตอนอาจจะงงนิดๆ หรือว่างงมากก็ไม่รู้นะ มันอย่างนี้นะค่อยๆอ่าน

โจทย์เขาต้องการให้นั่งแบบ ครู  ตามด้วยนักเรียนชาย และตามด้วยนักเรียนหญิง

ผมให้ครูแทนด้วยตัว T

นักเรียนชายแทนด้วยตัว B

นักเรียนหญิงแทนด้วยตัว G

เอาสามสิ่งนี้มาเรียงสับเปลี่ยนเชิงวงกลมก็จะได้ 2 วิธีที่ต่างกันคือ

1. นั่งล้อมโต๊ะกลมแบบ  TBG

2. นั่งล้อมโต๊ะกลมแบบ  GBT   (ยังเป็นไปเงื่อนไขเพียงให้เราเริ่มมองจากฝั่งขวาไปซ้าย)

มาดูกรณี  1. นั่งล้อมโต๊ะกลมแบบ  TBG

จัดครูไปนั่งรอบโต๊ะกลมก่อนครูมี 3 คนจัดนั่งรอบโต๊ะกลมจัดได้   \((3-1)!=2!\)     วิธี

ต่อไปจัดนักเรียนชายเข้าไปนั่งแทรกเรียงสับเปลี่ยนแบบเชิงเส้น ก็ทำได้  \(3!\)      วิธี

ต่อไปจัดนักเรียนหญิงเข้าไปบ้างเรียงสับเปลี่ยนแบบเชิงเส้นก็ทำได้  \(3!\)      วิธี

ดังนั้น จำนวนวิธีในการจัดคือ   \( 2!\times 3!\times 3!=72\)      วิธี

ต่อไปดูกรณี 2. นั่งล้อมโต๊ะกลมแบบ  GBT

จะทำได้เหมือนกันกับข้างบนครับ ได้ 72 วิธี

ดังนั้น เอาทั้งสองกรณีบวกกันก็จะได้  คำตอบคือ  72+72=144   วิธี

ดูรูปประกอบคร่าวๆ

การเรียงสับเปลี่ยนเชิงวงกลม

ไม่เข้าใจตรงไหนถามได้นะครับ