การประยุกต์เกี่ยวกับร้อยละ ในชีวิตประจำวันของเราเนียะเราจะพบเห็นตลอดเลยสิ่งต่างๆที่เกี่ยวข้องกับร้อยละ เช่นพวกป้ายต่างๆ โดยเฉพาะป้ายฉลากสินค้าลดราคา  เช่น รองเท้าคู่นี้ลดราคา 2%  หรือการโฆษณาข่าวสารต่างๆในทีวีโทรทัศน์เช่น  ปีนี้ประเทศไทยส่งออกข้าวสารไปยังต่างประเทศเพิ่มขึ้น  3%  เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เป็นต้น นี่คือการประยุกต์หรือเหตุการที่เกี่ยวข้องกับการประยุกต์ร้อยละ

จะเห็นได้ว่าร้อยละเกี่ยวข้องก้บชีวิตประจำวันของเราในยุคปัจจุบันมาก  แต่บางคนอาจจะยังไม่เข้าใจความหมายของร้อยละเท่าที่ควร  วันนี้เรามาทบทวนกันครับว่าร้อยละ นั้นจริงๆแล้วมันคืออะไรกันแน่

ร้อยละ หรือ เปอร์เซ็นต์ นั้นคือสิ่งเดียวกัน บางคนชอบใช้คำว่าเปอร์เซ็นต์แทนค่าว่าร้อยละ แต่ให้เราเข้าใจก่อนนะครับว่าคือสิ่งเดียวกัน ที่นี้ความหมายของร้อยละคืออะไร   มันก็คือการเปรียบเทียบปริมาณใดปริมาณหนึ่งกับ  100   เช่น

ร้อยละ  75   หรือ  75%  ก็คือการเอา 75 ไปเทียบกับ  100   หรือก็คือ 75  ส่วนจากทั้งหมด 100  ส่วน  สามารถเขียนแทนได้ด้วยอัตราส่วนคือ   75:100    หรือสามารถเขียนในรูปเศษส่วนได้คือ   \(\frac{75}{100}\)        นั่นเองครับ

จากตัวอย่างข้างบนเราสามารถเปลี่ยนจากร้อยละให้เป็นอัตราส่วนได้ ในทำนองเดียวกัน เราก็สามารถเปลี่ยนอัตราส่วนให้เป็นร้อยละได้เช่นกัน คือ

\(3:5=\frac{3}{5}=\frac{3\times 20}{5\times 20}=\frac{60}{100}=60\%\)         นั่นเองครับ    จะเห็นว่าเราสามารถเปลียนกลับไปกลับได้ระหว่างอัตราส่วนและร้อยละ นั่นคือพวกมันมีความสัมพันธ์กันนั่นเองครับ

เรามาดูโจทย์ปัญหาเกี่ยวกับร้อยละกันดีกว่าครับผมจะเฉลยให้ดูเพียงบางข้อเท่านั้นให้พวกเราศึกษาอ่านทำความเข้าใจเองจะดีมากเพราะบางคนอาจจะเรียนในห้องไม่เข้าใจหรือไม่เงินเรียนพิเศษก็สามารถอ่านทำความเข้าใจเองได้ครับเว็บนี้เน้นให้ทุกคนศึกษาทำความเข้าใจด้วยตนเองเราเชื่อว่าทุกคนมีศักยภาพเพียงพอในการศึกษาด้วยตนเองครับ

ตัวอย่าง 1  น้ำส้มสายชูกลั่น 5%  หมายถึงน้ำส้มสายชู  100 ลูกบาศก์เซนติเมตร มีกรดน้ำส้มหรือกรดแอซิติก  5  กรัม น้ำส้มสายชูกลั่น  5%  ขวดหนึ่ง มีปริมาตรสุทธิ   390   ลูกบาศก์เซนติเมตร จงหาว่าน้ำส้มสายชูขวดนี้มีกรดน้ำส้มกี่กรัม

วิธีทำ  ข้อนี้ถ้าแปลโจทย์ออกมาแบบบ้านๆง่ายๆก็คือ  5%  ของ  390  เท่ากับเท่าไร  นั่นเองครับ

ดังนั้นน้ำส้มสายชูขวดนี้มีกรดน้ำส้ม   \(\frac{5}{100}\times 390 = 19.5 \)           กรัม


ตัวอย่าง 2   อัลลอยชนิดหนึ่ง มีเงินผสมอยู่   60%  และอัลลอยอีกหนึ่งชนิดมีเงินผสมอยู่  75% จะต้องนำอัลลอยแต่ละชนิดมาผสมกันอย่างไร จึงจะได้อัลลอยที่มีเงินผสม  65%  จำนวน  250  กิโลกัม

วิธีทำ  ข้อนี้ต้องการนำอัลลอยชนิดที่หนึ่งรวมกับอัลลอยอีกชนิดให้ได้อัลลอยรวมกัน 250  กิโลกรัม และใน 250 กิโลกรัมนี้จะมีเงินผสมอยู่  65%   นี่คือสิ่งที่โจทย์บอกมา   เริ่มทำเลยครับ

เนื่องจากใช้อัลลอยชนิดที่หนึ่งรวมกับอัลลอยชนิดที่สองได้อัลลอยผสมมีน้ำหนัก   250  กิโลกรัม

ให้อัลลอยชนิดที่หนึ่ง หนัก  \(x\)   กิโลกรัม  มีเงินผสมอยู่   60%   ดังอัลลอยชนิดที่หนึ่งนี้มีเงินผสมอยู่คิดเป็น  \(\frac{60}{100}\times x \)     กิโลกรัม

และจากที่เราให้อัลลอยชนิดที่หนึ่งหนัก  \(x\)      กิโลกรัม  และน้ำหนักของอัลลอยทั้งสองชนิดรวมกันหนัก   250   กิโลกรัม  จึงทำให้เราได้ว่า   อัลลอยชนิดที่สองหนัก    \(250-x\)      กิโลกรัม และในอัลลอยชนิดที่สองนั้นมีเงินผสมอยู่  75%   ทำให้ได้ว่าอัลลอยชนิดที่สองนั้น มีเงินผสมอยู่หนัก   \(\frac{75}{100}\times (250-x)\)   กิโลกรัม

นั่นคือจะได้ว่าอัลลอยทั้งสองชนิดมีเงินผสมอยู่   \(\frac{60}{100}\times x +\frac{75}{100}\times (250-x)\)     กิโลกรัม    แต่ต้องการอัลลอยผสมจำนวน   250   กิโลกรัม  มีเงินผสมอยู่  65%  คิดเป็น       \(\frac{65}{100}\times  250\)    กิโลกรัม

เขียนสมการแสดงน้ำหนักเงินที่ผสมอยู่ในอัลลอยได้ดังนี้

\(\frac{60}{100}\times x +\frac{75}{100}\times (250-x)=\frac{65}{100}\times  250\)  

\(60x+75(250-x)=16250\)

\(x=\frac{500}{3}\)

ดังนั้นต้องใช้อัลลอยที่มีเงินผสมอยู่  60%  จำนวน    \(\frac{500}{3}\)        กิโลกรัม

และใช้อัลลอยที่มีเงินอยู่    75%    จำนวน  \(250-\frac{500}{3}=\frac{250}{3}\)       กิโลกรัม


ตัวอย่าง 3  ข้อสอบวิชาภาษาอังกฤษมีสองฉบับ ฉบันที่หนึ่งมี  40  ข้อ ข้อละ 1 คะแนน และฉบับที่สองมี 30 ข้อ ข้อละ 1 คะแนน วิไลทำข้อสอบฉบับที่หนึ่งได้คะแนน  75%   จะต้องทำข้อสอบฉบับที่สองถูกกี่ข้อ  จึงจะได้คะแนนรวมสองฉบับเป็น  80%

วิธีทำ  ข้อนี้เราต้องรู้ก่อนว่า   80%  ของคะแนนรวมของข้อสอบทั้งสองฉบับมันคือกี่คะแนนกันแน่

จากข้อสอบฉบับที่ 1  มี  40  ข้อ

ฉบับที่ 2  มี  30  ข้อ

ดังนั้นคะแนนรวมทั้งสองฉบับคือ  30+40=70   คะแนน  เพราะฉนั้น  80% ของคะแนนรวมคือ      \(\frac{80}{100}\times  70=56\)    คะแนน

โจทย์บอกอีกว่าวิไลทำข้อสอบฉบับที่หนึ่งได้คะแนน   75%   ดังนั้นวิไลได้คะแนน    \(\frac{75}{100}\times 40=30\)      คะแนน

ตอนนี้วิไลทำคะแนนข้อสอบฉบับแรกได้  30  คะแนน โจทย์อยากรู้ว่าจะต้องทำคะแนนฉบับที่สองได้กี่คะแนนคะแนนรวมทั้งสองฉบับจึงเป็น  80%  ซึ่งคิดเป็นคะแนนคือ 56 คะแนน  ดังนั้น  30 คะแนนต้องบวกเพิ่มอีก  26  คะแนนถึงจะเป็น  56  คะแนน ดังนั้นวิไลต้องทำข้อสอบฉบับที่สองให้ได้  26   คะแนนคะแนนรวมของเขาจึงจะเป็น 80%


ตัวอย่าง 4  จิตราลงทุนตัดเย็บเสื้อและกางเกงชุดละ  700  บาทและปิดราคาขายชุดละ  950  บาท โดยคิดกำไรของเสื้อไว้  40%  และคิดกำไรของกางเกงไว้  30%   จงหา

1) ราคาต้นทุนของเสื้อและต้นทุนของกางเกงชุดนี้

2) จิตราขายเสื้อและกางเกงชุดนี้ได้กำไรเฉลี่ยกี่เปอร์เซ็นต์

วิธีทำ  ราคาต้นทุนของเสื้อและกางเกงคือชุดละ   700  บาท

ให้ราคาต้นทุนเสื้อคือ \(x\)      บาท ต้องการกำไร  40%    ต้องปิดขายราคาขาย  \(\frac{140}{100}\times x\)          บาท

ราคาต้นทุนของกางเกงคือ  \(700-x\)    บาท ต้องการกำไร   30%  ต้องปิดราคาขาย   \(\frac{130}{100}\times (700-x)\)     บาท

เนื่องจากจิตราปิดราคาขายเสื้อและกางเกงชุดละ   950  บาท

เขียนเป็นสมการคือ   \(\frac{140}{100}\times x+\frac{130}{100}\times (700-x)=950\)     บาท

แก้สมการหาค่าของ  \(x\)   จะได้     

\(\frac{140}{100}\times x+\frac{130}{100}\times (700-x)=950\)

\(\frac{140x}{100}+\frac{130\times 700}{100}-\frac{130x}{100}=950\)

\(\frac{140x+91000-130x}{100}=950\)

\(10x+91000=950\times 100\)

\(10x=95000-91000\)

\(10x=4000\)

\(x=400\)      บาท

นั่นคือเสื้อมีราคาต้นทุน   400  บาท และกางเกงมีราคาต้นทุน   700-400=300   บาท

เนื่องจาก เสื้อและกางเกงมีราคาต้นทุนชุดละ  700  บาท   ขายไปชุดละ  950   บาท ได้กำไร   250   บาท คิดเป็นร้อยละ  \(\frac{250}{700}\times 100=\frac{250}{7}\)    ของราคาทุน

นั่นคือจิตราขายเสื้อและกางเกงชุดนี้ได้กำไรเฉลี่ย    \(\frac{250}{7}=35\frac{5}{7}\%\)