ต่อไปเรามาหาจุดกึ่งกลางระหว่างจุดสองจุดครับซึ่งเป็นเนื้อหาที่เราจะได้เรียนตอน ม.4 ครับ ซึ่งสามารถหาจุดกึ่งกลางระหว่างจุดสองจุดจากทฤษฏีต่อไปนี้ครับ

ทฤษฏีบท  ถ้าจุด \(P(x,y)\)  เป็นจุดกึ่งกลางระหว่างจุด  \(P_{1}(x_{1},y_{1})\)   และ  \(P_{2}(x_{2},y_{2})\)   แล้ว

\[x=\frac{x_{1}+x_{2}}{2}\]      และ

\[y=\frac{y_{1}+y_{2}}{2}\]

ต่อไปเรามาใช้ทฤษฏีนี้เพื่อทำแบบฝึกหัดหาจุดกึ่งกลางระหว่างจุดสองจุดดีกว่าครับ

1. จงหาจุดกึ่งกลางระหว่างจุดแต่ละคู่ต่อไปนี้

1) \((\frac{1}{2},2)\)   และ  \((3,-1)\)

วิธีทำ  ทำตามทฤษฏีเลยนะครับไม่ยากเลยแค่แทนค่าลงบวกลบคูณหารออกมาก็ได้คำตอบแล้วครับ

\[x=\frac{\frac{1}{2}+3}{2}=\frac{7}{4}\]

\[y=\frac{2+(-1)}{2}=\frac{1}{2}\]

ดังนั้นจุดกึ่งกลางระหว่าง   \((\frac{1}{2},2)\)   และ  \((3,-1)\)   คือ \((\frac{7}{4},\frac{1}{2})\)

2)  \((-1,-2)\)   และ   \((-1,-1)\)

วิธีทำ หาจุดกึ่งกลางระหว่างจุดกันเลยแทนค่าลงไปในสูตรเลยครับ

\[x=\frac{(-3)+(-1)}{2}=-2\]

\[y=\frac{(-2)+(-1)}{2}=\frac{-3}{2}\]

ดังนั้นจุดกึ่งกลางระหว่าง  \((-1,-2)\)   และ   \((-1,-1)\)   คือ \((-2,\frac{-3}{2})\)


2. จุด M เป็นจุดกึ่งกลางของส่วนของเส้นตรง PQ จงหาพิกุดของจุด P  ถ้า

1) M  มีพิกัดเป็น  (1,2) และ Q มีพิกัดเป็น (3,4)

วิธีทำ  ผมให้ P มีพิกัดเป็น  (x,y)   โจทย์บอกว่าจุด M เป็นจุดกึ่งกลางของส่วนของเส้นตรง PQ ดังนั้นจะได้ว่า

\begin{array}{lcl}1&=&\frac{3+x}{2}\\x+3&=&2\times 1\\x&=&2-3\\x&=&-1\end{array}

อีกจุดคือ

\begin{array}{lcl}2&=&\frac{4+y}{2}\\4+y&=&2\times 2\\y&=&4-4\\y&=&0\end{array}

ดังนั้นจุด P มีพิกัดเป็น (-1,0)


3. จงแสดงว่าจุดกึ่งกลางของเส้นทแยงมุมของรูปสี่เหลี่ยมซึ่งมีจุดยอดที่  A(2,1),B(7,1),C(9,3) และ  D(4,3)  เป็นจุดเดียวกัน

วิธีทำ ดูประกอบครับข้อนี้ 

การทำข้อนี้จากรูป

หาจุดกึ่งกลางของ AC  คือซึ่งผมให้พิกัด (m,n) เป็นจุดกึ่งกลางของ AC จะได้

\begin{array}{lcl}m&=&\frac{2+9}{2}=\frac{11}{2}\\n&=&\frac{1+3}{2}=2\end{array}

ดังนั้นจุดกึ่งกลางของ AC อยู่ที่พิกัด  \((\frac{11}{2},2)\)

หาจุดกึ่งกลางของ BD ซึ่งผมให้พิกัด  (p,q)  เป็นจุดกึ่งกลางของ BD จะได้

\begin{array}{lcl}p&=&\frac{7+4}{2}=\frac{11}{2}\\q&=&\frac{1+3}{2}=2\end{array}

ดังนั้นจุดกึ่งกลาง BD อยู่ที่พิกัด  \((\frac{11}{2},2)\)

จะเห็นว่า จุดกึ่งกลางของ AC และ BD คือจุดเดียวกันคือจุด  \((\frac{11}{2},2)\)   นั่นคือจุดกึ่งกลางของเส้นทแยงมุมนี้เป็นจุดเดียวกันครับ


4. R(-7,-5) , S(3,7) ,T(6,1) เป็นจุดยอดของรูปสามเหลี่ยมรูปหนึ่ง จงหาความยาวของเส้นมัธยฐานจากจุด S ไปยังด้าน RT

วิธีทำ ก่อนทำข้อนี้เรามาดูความหมายของเส้นมัธยฐานก่อน เพราะบางคนอาจจะยังไม่รู้ความหมายของคำคำนี้  เส้นมัธยฐานจากจุด S ไปยังด้าน RT คือ เส้นที่ลากจากจุด S  แล้วไปแบ่งครึ่งด้าน RT ออกเป็นสองส่วนเท่าๆกัน   ดังนั้นจุดที่แบ่งครึ่งด้าน RT ก็คือจุดกึ่งกลางของจุด R(-7,-5) และจุด T(6,1)  เรามาหาจุดกึ่งกลางของจุด R(-7,-5)  และจุด T(6,1) กันครับแทนค่าตามสูตรที่เป็นทฤษฏีด้านบนเลยนะครับ

\begin{array}{lcl}x&=&\frac{-7+6}{2}=\frac{-1}{2}\\y&=&\frac{-5+1}{2}=-2\end{array}

ดังนั้นจุดกึ่งกลางระหว่างจุด R และจุด T  คือจุด  \((\frac{-1}{2},-2)\)   นั่นเองครับ

โจทย์บอกว่าจงหาความยาวของเส้นมัธยฐานจากจุด S  ไปยังด้าน RT  ก็คือหาความยาวของเส้นสีแดงตามรูปนั่นเองครับซึ่งการหาความยาวของเส้นนี้ก็คือหาระยะทางระหว่างจุดสองจุดก็คือจุด S(3,7) กับ จุด    \(A(\frac{-1}{2},-2)\)  ดูตามรูปนะครับ มาเริ่มหากันเลยครับใครไม่รู้ว่าหายังไงก็อ่านตามลิงค์ที่ผมทำไว้ให้นะครับ 

\begin{array}{lcl}&=&\sqrt{(3-(-\frac{1}{2}))^{2}+(7-(-2))^{2}}\\&=&\sqrt{(3+\frac{1}{2})^{2}+(7+2)^{2}}\\&=&\sqrt{\frac{49}{4}+81}\\&=&\sqrt{\frac{373}{4}}\\&=&\frac{\sqrt{373}}{2}\end{array}

ตอบแล้วนะครับความยาวของเส้นมัธยฐานที่ลากจากจุด S  ไปยังด้าน RT ยาวเท่ากับ \(\frac{\sqrt{373}}{2}\)   หน่วย