• วงรี

    วันนี้เราจะมาพูดถึงวงรีครับ ซึ่งภาษาอังกฤษก็คือ Ellipse  วิธีการวาดวงรีจะมีวิธีการวาดง่ายๆดังนี้ ดูรูปประกอบด้านล่างนะครับ

    เอาตะปูสองตัวไปตีลงบนกระดาษก่อนแล้วเอาเชือกมาหนึ่งเส้นซึ่งความยาวของเชือกนั้นต้องยาวมากกว่าระยะห่างของตะปู  เอาเชือกนั้นผูกไว้กับตะปูทั้งสองดังรูปครับ

    วงรี

    ต่อไปก็ดึงเชือกสีแดงไปผูกติดกับจุด C  แล้วลากจุด C นี้รอบตะปูตอนลากนี้เชือกต้องตึงนะครับ ก็จะได้วงรีออกมาครับคิดตามด้วยนะ ดังรูป

    วงรี

    ซึ่งจากรูปเราจะเห็นว่า AC+CB=k เมื่อ k คือค่าคงที่ค่าหนึ่ง

    นี่คือการวาดวงรีครับ วาดแบบนี้แหละ น่าจะพอเข้าใจนะ ต่อไปเราก็มาดูนิยามของวงรีในเชิงเรขาคณิตบ้างครับ

    บทนิยาม

     วงรีคือเซต ของจุดทุกจุดบนระนาบ ซึ่งผลบวกของระยะทาง จากจุดใดๆ ในเซตนี้ไปยังจุดคงที่สองจุด บนระนาบมีค่าคงตัว โดยค่าคงตัวมากกว่าระยะห่างระหว่างจุดคงที่ทั้งสองจุดครับ

     

    ส่วนประกอบของวงรี

    กำหนดให้ \(F\)  และ  \(F^{\prime}\)  เป็นจุดโฟกัสของวงรี  ดังรูป

    วงรี

    1. เรียก จุด \(F\) และ \(F^{\prime}\)  ว่าจุดโฟกัสของวงรี

    2. จุด O เป็นจุดกึ่งกลางระหว่างโฟกัสทั้งสอง เรียกว่า จุดศูนย์กลางของวงรี

    3. จุด \(V\)  และ \(V^{\prime}\)  เรียนกว่าจุดยอดของวงรี

    4. ส่วนของเส้นตรง \(VV^{\prime}\)  เรียกว่าแกนเอกของวงรีสังเกตนะครับแกนเอกจะลากผ่านจุดยอดทั้ง 2 จุด

    5. \(BB^{\prime}\) คือส่วนของเส้นตรงที่ตั้งฉากกับแกนเอกที่จุดศูนย์กลาง เรียกแกนนี้ว่า แกนโทของวงรี

    6. ส่วนของเส้นตรง  \(AA^{\prime}\) เป็นส่วนของเส้นตรงที่ตั้งฉากกับแกนเอกที่จุดโฟกัส และมีจุดปลายทั้งสองอยู่บนด้านวงรี เรียกเส้นนี้ว่า เลตัสเรกตัมของวงรี

    เมื่อเรารู้จักส่วนประกอบต่างๆหลักของวงรีแล้วต่อไปเราก็มาลงเจาะลึกกันครับ ถ้าเราสังเกตุดูดีๆเราจะเห็นว่า เราสามารถแบ่งวงรี ได้ 2 แบบคือ

    1. วงรีตามแนวแกน X  ก็คือแกนเอกของวงรีจะอยู่บนแกน X หรือขนานกับแกน X  

    2. วงรีตามแนวแกน Y  ก็คือแกนเอกของวงรีจะอยู่บนแกน Y หรือขนานกับแกน Y  

    ต่อไปเรามาดูสมการของวงรีบ้างดีกว่าครับ

    1.  สมการวงรีที่มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่จุดกำเนิด (0,0) และแกนเอกอยู่บนแกน X  

    ดูรูปประกอบครับ

    วงรี

    จะมีสมการเป็น

    \[\frac{x^{2}}{a^{2}}+\frac{y^{2}}{b^{2}}=1 \quad  , a>b>0\]

    เรียก  \((a,0)\)  และ  \((-a,0)\)  ว่าจุดยอดของวงรี

    เรียก  \((c,0)\)  และ \((-c,0)\)   ว่าจุดโฟกัสของวงรี

    แกนเอกอยู่บนแกน X  มีความยาวเท่ากับ \(|2a|\)

    แกนโทอยู่บนแกน Y  มีความยาวเท่ากับ \(|2b|\)

    และจะได้ความสัมพันธ์ที่สำคัญของวงรี คือ  \(c^{2}=a^{2}-b^{2}\)

    2.  สมการวงรีที่มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่จุดกำเนิด (0,0) และแกนเอกอยู่บนแกน Y

    วงรี

    จะมีสมการเป็น

    \[\frac{x^{2}}{b^{2}}+\frac{y^{2}}{a^{2}}=1 \quad  , a>b>0\]

    เรียก  \((a,0)\)  และ  \((-a,0)\)  ว่าจุดยอดของวงรี

    เรียก  \((c,0)\)  และ \((-c,0)\)   ว่าจุดโฟกัสของวงรี

    แกนเอกอยู่บนแกน X  มีความยาวเท่ากับ \(2a\)

    แกนโทอยู่บนแกน Y  มีความยาวเท่ากับ \(2b\)

    และจะได้ความสัมพันธ์ที่สำคัญของวงรี คือ  \(c^{2}=a^{2}-b^{2}\)

    ข้อสังเกต

    ถ้าเป็นวงรีตามแนวแกน X   ค่าของ \(a^{2}\)  จะเป็นตัวส่วนของ \(x^{2}\)

    ถ้าเป็นวงรีตามแนวแกน Y  ค่าของ  \(a^{2}\)  จะเป็นตัวส่วนของ  \(y^{2}\)

    อีกอันหนึ่งที่เราควรรู้จักคือ ความเยื้องศูนย์กลาง (eccentricity) ของวงรี แทนด้วยตัว  e  มันคืออัตราส่วนของ c ต่อ \(a\)   เมื่อ \(c=\sqrt{a^{2}-b^{2}}\)  หรือ พูดง่ายๆ ก็คือ  \(e=\frac{c}{a}\)

    มาดูตัวอย่างกันเลยครับค่อยๆทำโจทย์ บอกได้เลยว่าต้องจำสูตรครับ จริงๆคณิตศาสตร์สอนให้เราเข้าใจมากกว่าจำนะแต่บางครั้งสถานการณ์มันบังคับเพราะว่าโจทย์ที่เขาออกสอบคือถ้าไม่จำสูตรเข้าไปก็ทำไม่ได้แน่นอน เอาเป็นว่าเอาตัวให้รอดจากข้อสอบก่อนแล้วกันครับ

    แบบฝึกหัด

    1. วงรีรูปหนึ่งมีสมการเป็น \(\frac{x^{2}}{16}+\frac{y^{2}}{4}=1\)  จงหาโฟกัส จุดยอด ความยาวของแกนเอกและความยาวแกนโท 

    วิธีทำ  ความจริงแล้วถ้าเราจำสมการวงรีได้ก็ไม่ยากครับ คือเอาสมการมาเทียบกันเลยครับ

    จากที่เรารู้ว่า  \(a>b>0\)  ดังนั้นเราถ้าเราดูคร่าวๆเราจะได้ว่า

    \(a^{2}=16 \quad ,a=4\)  

    \(b^{2}=4 \quad , b=2\)  

    ดังวงรีนี้เป็นวงที่มีจุดศูนย์กลางที่จุดกำเนิดและเป็นวงรีตามแนวแกน X  เพราะ \(a^{2}\)  เป็นตัวส่วนของ \(x^{2}\) เราจึงได้ว่า

    จุดยอดคือ \((a,0)\) และ  \(-a,0\)  ซึ่ง \(a\) เราหาไว้แล้วนะ จึงได้ว่าจุดยอดคือ \((4,0)\)  และ \((-4,0)\)

    ต่อไปก็หาก็หาจุดโฟกัส  ในการหาจุดโฟกัสจำเป็นต้องรู้  \(c\) เราสามารถหา c ได้จากความสัมพันธ์นี้ครับ

    \begin{array}{lcl}c^{2}&=&a^{2}-b^{2}\\c&=&\sqrt{a^{2}-b^{2}}\\c&=&\sqrt{16-4}\\c&=&\sqrt{12}\end{array}

    ดังจุดโฟกัสคือ  \((\sqrt{12,0})\)  และ  \((-\sqrt{12},0)\)

    ความยาวแกนเอกคือ \(2a=2(4)=8\)  หน่วย

    ความยาวแกนโทคือ \(2b=2(2)=4\)  หน่วย


    2. จงหาจุดยอด  โฟกัส  ความเยื้องศูนย์กลาง  ความยาวของแกนเอกและแกนโท ของวงรีแล้วเขียนกราฟ

    1)  \(\frac{x^{2}}{9}+\frac{y^{2}}{25}=1\)

    วิธีทำ  เนื่องจาก \(a>b>0\)  รู้เลยว่า

    \(a^{2}=25\quad ,a=5\)

    \(b^{2}=9 \quad ,b=3\)

    เนื่องจาก \(a^{2}\) เป็นตัวส่วนของ \(y^{2}\) ดังนั้นข้อนี้เป็นวงรีตามแนวแกน Y  และมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่จุด (0,0)

    หาจุดยอดเลย  จุดยอดคือ

    \((0,a)\)  และ  \((0,-a)\) นั่นก็คือ \((0,5)\)  และ \((0,-5)\)  นั่นเอง

    ต่อไปหาจุดโฟกัส  การที่เราจะจุดโฟกัสได้เราจำเป็นต้องรู้จุด c  ซึ่ง

    \begin{array}{lcl}c&=&\sqrt{a^{2}-b^{2}}\\c&=&\sqrt{25-9}\\c&=&\sqrt{16}\\c&=&4\end{array}

    นั่นคือ จุดโฟกัสคือ

    \((0,c)\)  และ \((0,-c)\)  นั่นก็คือ \((0,4)\)  และ \((0,-4)\)  นั่นเองครับ

    ความยาวแกนเอกเท่ากับ \(2a=2(5)=10\)  หน่วย

    ความยาวแกนโทเท่ากับ \(2b=2(3)=6\)  หน่วย

    ความเยื้องศูนย์กลาง คือ

    \(e=\frac{c}{a}=\frac{4}{5}\)


    3)  \(9x^{2}+4y^{2}=36\)

    วิธีทำ  ข้อนีต้องจัดสมการก่อนครับ จัดให้เป็นสมการวงรีให้ได้ คือต้องกำจัดส้มประสิทธ์หน้า \(x^{2}\)  กับหน้า \(y^{2}\)  นั่นก็คือต้องเอา \(\frac{1}{36}\)  คูณเข้า  ตัวเลข 36 ก็คือ ค.ร.น.  ของ 9 และ 4  นั่นเองครับ  เริ่มทำเลขครับ


    \begin{array}{lcl}9x^{2}+4y^{2}&=&36\\\frac{1}{36}\left(9x^{2}+4y^{2}\right)&=&\frac{1}{36}\times 36\\\frac{x^{2}}{4}+\frac{y^{2}}{9}&=&1\end{array}

    จะเห็นสมการนี้เป็นสมการวงรีตามแนวแกน Y นั่นเองครับ

    \(a^{2}=9 \quad ,a=3\)

    \(b^{2}=4 \quad ,b=2\)

    เนื่องจาก

    \begin{array}{lcl}c&=&\sqrt{a^{2}-b^{2}}\\c&=&\sqrt{9-4}\\c&=&\sqrt{5}\end{array}

    เราจะได้ว่า

    จุดยอดคือ \((0,3)\)  และ  \((0,-3)\)

    จุดโฟกัสคือ  \((0,\sqrt{5})\) และ  \((0,-\sqrt{5})\)

    ความเยื้องศูนย์กลาง  \(e=\frac{c}{a}=\frac{\sqrt{5}}{3}\)

    ความยาวแกนเอกเท่ากับ \(2a=2(3)=6\)   หน่วย

    ความยาวแกนโทเท่ากับ  \(2b=2(2)=4\)  หน่วย


    ที่กล่าวไปข้างต้นเป็นวงรีที่มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่จุดกำเนิดครับ  ต่อไปเราก็มาดูว่าถ้ามันมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่จุด(h,k) ใดๆจะมีสมการวงรีเป็นอย่างไร

    สมการวงรีที่มีจุดศูนย์กลางที่จุด(h,k)ใดๆ

    1. สมการวงรีที่มีจุดศูนย์กลางที่จุด(h,k)ใดๆและแกนเอกอยู่ในแนวนอนจะมีสมการเป็น

    \[\frac{(x-h)^{2}}{a^{2}}+\frac{(y-k)^{2}}{b^{2}}=1,\quad a>b\]

    แกนเอกอยู่บนแกนนอนนะครับ จุดศูนย์กลางอยู่ที่จุด (h,k) ดูรูปประกอบครับ

    วงรี

    สามารถหาจุดยอดได้คือ

    \((h-a,k)\quad ,(h+a,k)\)

    สามารถหาจุดโฟกัสได้คือ

    \((h-c,k)\quad,(h+c,k) \quad \quad ; c^{2}=a^{2}-b^{2}\)

    แกนเอกยาว \(2a\)

    แกนโทยาว \(2b\)

    2. สมการวงรีที่มีจุดศูนย์กลางที่จุด(h,k)ใดๆและแกนเอกอยู่ในแนวตั้งจะมีสมการเป็น

    \[\frac{(x-h)^{2}}{b^{2}}+\frac{(y-k)^{2}}{a^{2}}=1,\quad a>b\]

    ดูรูปประกอบนะครับ

    วงรี

    สามารถหาจุดยอดได้คือ

    สามารถหาจุดโฟกัสได้คือ

    \((h,k-c)\quad,(h,k+c) \quad \quad ;\quad c^{2}=a^{2}-b^{2}\)

    แกนเอกยาว \(2a\)

    แกนโทยาว \(2b\)\((h,k-a)\quad ,(h,k+a)\)

    เราลองมาทำแบบฝึกหัดเกี่ยวกับวงรีที่จุดยอดอยู่ที่จุด(h,k) ใดๆดีกว่าครับ

    แบบฝึกหัด

    1. จงหาจุดศูนย์กลาง โฟกัสและ จุดยอดของวงรีและหาความยาวของแกนเอกและแกนโทแล้วเขียนกราฟ

    1)  \(\frac{(x-1)^{2}}{4}+\frac{(y-2)^{2}}{9}=1\)

    วิธีทำ จะเห็นว่า เนื่องจากเรารู้ว่า \(a>b\)  ดังนั้น

    \(a^{2}=9 \quad ,\quad b^{2}=4\) นั่นคือ

    \(a=3\quad ,b=2\)  เนื่องจาก เอกำลังสองเป็นส่วนของ ตัวแปร y ดังนั้นวงรีนี้เป็นวงรีตามแกนตั้ง ดังนั้นถ้าเทียบกับสมการมาตรฐานของวงรีตามแนวแกนตั้งคือ

    \[\frac{(x-h)^{2}}{b^{2}}+\frac{(y-k)^{2}}{a^{2}}=1,\quad a>b\]

    เราจะได้ว่า

    \(h=1,k=2\)  นั่นคือวงรีนี้มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ (1,2)

    จุดยอดของวงรีตามแนวแกนตั้งคือ

    \((h,k-a)\quad ,(h,k+a)\)

    \((1,2-3)\quad,(1,2+3)\)

    นั่นคือจุดยอดของวงรีคือ \((1,-1)\)  และ \((1,5)\)

    จุดโฟกัสของวังรีตามแนวแกนตั้งคือ

    \((h,k-c)\quad,(h,k+c)\)

    การหาค่า \(c\) ก็หาได้จากความสัมพันธ์เดิมคือ \(c^{2}=a^{2}-b^{2}\)

    นั่นคือ

    \(c=\sqrt{a^{2}-b^{2}}\)

    \(c=\sqrt{3^{2}-2^{2}}=\sqrt{5}\)

    นั่นคือจุดโฟกัสของวงรีคือ

    \((1,2-\sqrt{5})\) และ \(1,2+\sqrt{5}\)

    ความยาวแกนเอกคือ \(2a=2(3)=6\)  หน่วย

    ความยาวแกนโทคือ \(2b=2(2)=4\)  หน่วย


    2)  \(\frac{y^{2}}{9}+\frac{(x+5)^{2}}{25}=1\)

    วิธีทำ ทำคล้ายๆกับข้อที่ 1 ครับ ข้อนี้

    \(a^{2}=25\quad , b^{2}=9\)    ดังนั้น

    \(a=5\quad , b=3\)

    แน่นอนข้อนี้เป็นวงรีตามแนวนอน ลองเทียบกับสมการมาตรฐานมันดูครับก็คือ

    \[\frac{(x-h)^{2}}{a^{2}}+\frac{(y-k)^{2}}{b^{2}}=1,\quad a>b\]

    เราจะได้

    \(h=-5 \quad ,k=0\)

    นั่นคือวงรีนี้มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ (-5,0)

    จุดยอดวงรีตามแนวแกนนอนคือ

    \((h-a,k)\quad ,(h+a,k)\)

    \((-5-5,0)\)  และ \((-5+5,0)\)

    นั่นคือจุดยอดวงรีคือ \((-10,0)\)  และ  \((0,0)\)  ครับ

    จุดโฟกัสวงรีตามแนวแกนนอนคือ

    ต้องหาค่า \(c\)  เหมือนเดิมครับ

    \(c=\sqrt{a^{2}-b^{2}}\)

    \(c=\sqrt{25-9}\)

    \(c=\sqrt{16}\)

    \(c=4\)

    สามารถหาจุดโฟกัสได้คือ

    \((h-c,k)\quad,(h+c,k)\)

    \((-5-4,0)\quad ,(-5+4,0)\)

    นั่นคือจุดโฟกัสคือ

    \((-9,0)\)  และ  \((-1,0)\)

    ความยาวแกนเอกคือ \(2a=2(5)=10\)   หน่วย

    ความยาวแกนโทคือ \(2b=2(3)=6\)  หน่วย

    มาทำแบบฝึกหัดต่อกันครับพอดีมีคนถามมาเยอะเกี่ยวกับการทำแบบฝึกหัดวงรีหนังสือ สสวท. ผมจะทำให้ดูแค่บางส่วนสำหรับผู้ที่ทำไม่ได้และไม่มีเงินไปเรียนพิเศษนะครับ เพื่อเป็นการทบทวนความรู้พยายามอ่านทำความเข้าใจนะครับอย่าลอกอย่างเดียว

    1. จงหาจุดยอด โฟกัส ความเยื้องศูนย์กลาง ความยาวของแกนเอกและแกนโท ของวงรีแล้วเขียนกราฟ

    (1)\(\frac{x^{2}}{9}+\frac{y^{2}}{25}=1\)

    วิธีทำ  จากสมการวงรี \(\frac{x^{2}}{9}+\frac{y^{2}}{25}=1\) ดังนั้น วงรีมีแกนเอกอยู่บนแกน \(Y\) และมี \(a^{2}=25,b^{2}=9\) ดังนั้น \(C^{2}=25-9=16\) จะได้ \(a=5,b=3\) และ \(c=4\)

    จุดยอดของวงรีคือ \((0,\pm5)\)   โฟกัสของวงรีคือ \((0,\pm4)\)

    ความเยื้องศูนย์กลางคือ \(\frac{4}{5}\) แกนเอกยาว 10 หน่วย

    แกนโทยาว 6 หน่วย  เขียนกราฟได้ดังนี้

     (2) \( \frac{x^{2}}{25}+\frac{y^{2}}{9}=1\)

    วิธีทำ จากสมการวงรี \(\frac{x^{2}}{25}+\frac{y^{2}}{16}=1\) ดังนั้น วงรีมีแกนเอกอยู่บนแกน \(X\) และมี \(a^{2}=25,b^{2}=16\) ดังนั้น

    \(c^{2}=25-16=9\) จะได้ \(a=5,b=4\) และ \(c=3\)

    จุดยอดของวงรีคือ \((\pm5,0)\)   โฟกัสของวงรีคือ \((\pm3,0)\)

    ความเยื้องศูนย์กลางคือ \(\frac{c}{a}=\frac{3}{5}\)  แกนเอกยาว 10 หน่วย

    แกนโทยาว 8 หน่วย   เขียนกราฟได้ดังนี้

    (3)\(9x^{2}+4y^{2}=36\)

    วิธีทำ ข้อนี้จัดสมการก่อนครับเพื่อให้รู้ว่าเป็นวงรีแบบไหนครับ

    \begin{array}{lcl}9x^{2}+4y^{2}&=&36\\\frac{1}{36}(9x^{2}+4y^{2})&=&\frac{1}{36}\times 36\\\frac{x^{2}}{4}+\frac{y^{2}}{9}&=&1\end{array}

    จากสมการที่ได้สุดท้ายคือ \(\frac{x^{2}}{4}+\frac{y^{2}}{9}=1\) แสดงว่าวงรีนี้มีแกนเอกอยู่บนแกน \(Y\) ที่มี \(a^{2}=9\) และ \(b^{2}=4\)

    ดังนั้น \(c^{2}=9-4=5\)  จะได้ \(a=3,b=2\) และ \(c=\sqrt{5}\)

    จุดยอดของวงรีคือ \((0,\pm 3)\)   โฟกัสของวงรีคือ \((0,\pm\sqrt{5})\)

    ความเยื้องศูนย์กลางคือ \(\frac{c}{a}=\frac{\sqrt{5}}{3}\)  แกนเอกยาว 6 หน่วย

    แกนโทยาว 4 หน่วย   เขียนกราฟได้ดังนี้

    (4) \(y^{2}=1-2x^{2}\)

    วิธีทำ จัดสมการก่อนครับจะได้

    \begin{array}{lcl}y^{2}&=&1-2x^{2}\\y^{2}+2x^{2}&=&1\\\frac{y^{2}}{1}+\frac{x^{2}}{\frac{1}{2}}&=&1\end{array}

    จากสมการจะเห็นว่าเป็นวงรีมีแกนเอกอยู่บนแกน \(Y\) ที่มี \(a^{2}=1\) และ \(b^{2}=\frac{1}{2}\)

    ดังนั้น \(c^{2}=1-\frac{1}{2}=\frac{1}{2}\) จะได้ \(a=1,b=\frac{1}{\sqrt{2}}\) และ \(c=\frac{1}{\sqrt{2}}\)

    จุดยอดของวงรีคือ \((0,\pm 1)\)  โฟกัสของวงรีคือ \((0,\pm\frac{\sqrt{2}}{2})\)

    ความเยื้องศูนย์กลางคือ \(\frac{\sqrt{2}}{2}\) แกนเอกยาว 2 หน่วยและแกนโทยาว \(\sqrt{2}\) หน่วย เขียนกราฟได้ดังนี้


    2. จงหาสมการของวงรีที่มีกราฟดังแสดงในแต่ละข้อ

    1)

    วิธีทำ จากกราฟจะเห็นว่าแกนเอกอยู่บนแกน \(X\) จะได้ \(a=5,b=4\) ดังนั้นสมการวงรีคือ \(\frac{x^{2}}{25}+\frac{y^{2}}{16}=1\)

    2)

    วิธีทำ  จากกราฟจะเห็นว่าแกนเอกอยู่บนแกน \(Y\) และจากกราฟจะเห็นว่า \(b=2,c=2\) จะได้ \(a^{2}=b^{2}+c^{2}=4+4=8\)

    ดังนั้นสมการวงรีคือ \(\frac{x^{2}}{4}+\frac{y^{2}}{8}=1\)


    3. จงหาสมการของวงรีที่สอดคล้องกับเงื่อนไขที่กำหนดให้

    1) โฟกัส \((-4,0),(4,0)\) จุดยอด \((-5,0),(5,0)\)

    วิธีทำ จากเงื่อนไขจะได้ว่า \(c=4,a=5\) และแกนเอกอยู่บนแกน \(X\)

    จะได้ \(b^{2}=a^{2}-c^{2}=25-16=9\)

    ดังนั้น สมการวงรีที่ต้องการคือ \(\frac{x^{2}}{25}+\frac{y^{2}}{9}=1\)

    2) แกนเอกยาว 4 หน่วย แกนโทยาว 2 หน่วย โฟกัสอยู่บนแกน \(Y\)

    วิธีทำ จากเงื่อนไขจะได้ว่า \(a=2,b=1\) และแกนเอกอยู่บนแกน \(Y\)

    ดังนั้น สมการวงรีที่ต้องการคือ \(\frac{x^{2}}{1}+\frac{y^{2}}{4}=1\)

    3) โฟกัส \((0,-2),(0,2)\) แกนโทยาว 6 หน่วย

    วิธีทำ จากเงื่อนไขจะได้ว่า \(c=2,b=3\) และแกนเอกอยู่บนแกน \(Y\)

    จะได้ \(a^{2}=b^{2}+c^{2}=9+4=13\)

    ดังนั้น สมการวงรีคือ \(\frac{x^{2}}{9}+\frac{y^{2}}{13}=1\)

    4) จุดปลายแกนเอก \((-10,0),(10,0)\) ระยะห่างระหว่างโฟกัสเท่ากับ 6 หน่วย

    วิธีทำ  จากเงื่อนไขจะได้ว่า \(a=10,c=3\) และแกนเอกอยู่บนแกน \(X\)

    จะได้ \(b^{2}=a^{2}-c^{2}=100-9=91\)

    ดังนั้น สมการวงรีคือ \(\frac{x^{2}}{100}+\frac{y^{2}}{91}=1\)

    5) จุดปลายแกนโท \((0,-3),(0,3)\) ระยะห่างระหว่างโฟกัสเท่ากับ 8 หน่วย

    วิธีทำ จากเงื่อนไขจะได้ว่า \(b=3,c=4\) และแกนเอกอยู่บนแกน \(X\)

    จะได้ \(a^{2}=b^{2}+c^{2}=9+16=25\)

    ดังนั้น สมการวงรีคือ \(\frac{x^{2}}{25}+\frac{y^{2}}{9}=1\)

    6) แกนเอกยาว 10 หน่วย โฟกัสอยู่บนแกน \(X\) วงรีผ่านจุด \((\sqrt{5},2)\)

    วิธีทำ จากเงื่อนไขจะได้ว่า \(a=5,(x,y)=(\sqrt{5},2)\) และแกนเอกอยู่บนแกน \(X\)

    แทนค่า \(x,y\) และ \(a\) ในสมการมาตรฐานด้วย \(\sqrt{5},2\) และ \(5\) ตามลำดับ จะได้

    \begin{array}{lcl}\frac{(\sqrt{5})^{2}}{25}+\frac{(2)^{2}}{b^{2}}&=&1\\\frac{4}{b^{2}}&=&1-\frac{5}{25}&=&\frac{4}{5}\\b^{2}&=&5\end{array}

    ดังนั้นสมการวงรีคือ  \(\frac{x^{2}}{25}+\frac{y^{2}}{5}=1\)

    7) ความเยื้องศูนย์กลาง \(\frac{1}{9}\) โฟกัส \((0,-2),(0,2)\)

    วิธีทำ  จากเงื่อนไขจะได้ว่า \(\frac{c}{a}=\frac{1}{9},c=2\) และแกนเอกอยู่บนแกน \(Y\)

    เนื่องจาก \(\frac{2}{a}=\frac{1}{9}\)

    จะได้ \(a=18\) ดังนั้น \(b^{2}=a^{2}-c^{2}=324-4=320\)

    ดังนั้น สมการวงรีคือ \(\frac{x^{2}}{320}+\frac{y^{2}}{324}=1\)

    8) ความยเยื้องศูนย์กลาง \(\frac{\sqrt{3}}{2}\)  โฟกัสอยู่บนแกน \(Y\) แกนเอกยาว 4 หน่วย

    วิธีทำ จากเงื่อนไขจะได้ว่า \(\frac{c}{a}=\frac{\sqrt{3}}{2},a=2\) และแกนเอกอยู่บนแกน \(Y\) ดังนั้น \(\frac{c}{2}=\frac{\sqrt{3}}{2}\)  จะได้ \(c=\sqrt{3}\) ดังนั้น \(b^{2}=a^{2}-c^{2}=4-3=1\)

    ดังนั้น สมการวงรีที่ต้องการคือ \(\frac{x^{2}}{1}+\frac{y^{2}}{4}=1\)